โช้คอัพเป็นส่วนนึงของระบบช่วงล่างรถยนต์ ซึ่งโดยหลักการทำงานของโช้คอัพ ต้องอาศัยการเคลื่อนตัวของเหลวภายในให้ลูกสูบผ่านไปมาระหว่างห้อง 2 ห้องภายในกระบอกโช้คอัพ โดยผ่านช่องระบายการไหลของน้ำมันภายในตัวลูกสูบ
การหดยืด (Compression & Rebound) ของโช้คอัพทำให้เกิดการหน่วง เพื่อหยุดชะลออาการเต้นของสปริง หรือ แหนบ โดยความหน่วงจะมากหรือน้อย จะช้าหรือเร็วนั้นขึ้นอยู่กับความคล่องตัวในการไหลสลับไปมาของน้ำมัน และคุณสมบัติด้านความหนืด (Viscosity) ของตัวน้ำมันที่ใช้ภายในกระบอกโช้คอัพนั่นเอง
ถ้าเซ็ตโช้คอัพที่ให้ความหน่วงมาก (ภาษาปากเราจะเรียกว่าเซ็ตโช้คอัพให้หนึบ) เมื่อการไหลของน้ำมันผ่านลูกสูบไม่สะดวก (เซ็ตวาวล์ให้หนึบ) หรือน้ำมันมีค่าความหนืดสูง ลักษณะเช่นนี้จะหยุดอาการเต้นของสปริงได้อย่างเร็ว แต่ก็ก่อให้เกิดอาการแข็งกระด้าง หรือ มีอาการตึง เนื่องจากสปริงซับจังหวะยืดยุบตามแรงสั่นสะเทือนได้ไม่เต็มที่ นั่นเพราะสปริงถูกจำกัดระยะในการทำงาน
ในทางกลับกันถ้าน้ำมันมีค่าความหนืดต่ำ การไหลของน้ำมันสามารถถ่ายเทไปมาหากันผ่านลูกสูบ (เซ็ตวาวล์ให้นุ่ม)ได้อย่างสะดวกคล่องตัว ทำให้อัตราการยืดยุบของสปริงก็จะมีมากขึ้น เพราะสปริงได้รับอิสระในการทำงานจึงสามารถช่วยดูดซับการสั่นสะเทือนได้มาก ทำให้มีความนุ่มนวลยิ่งขึ้น
เมื่อเหล่าวิศวกรยานยนต์ต้องการระบบกันสะเทือนที่สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้นจึงต่อยอดผสานทั้ง 2 ฟีลลิ่งนี้ให้ลงตัวมากที่สุด จึงเกิดเป็นระบบ Adaptive Shock Absorber (อ่านว่า อะแดปทีฟช็อคแอบซอร์บเบอร์) ขึ้นมาหลักการคือจะเป็นการแปรผันอัตราการหน่วง/ยืดยุบของโช้คอัพ ซึ่งระบบนี้มีใช้กันอยู่ในรถยนต์ในปัจจุบัน (ส่วนใหญ่จะอยู่ในรถยุโรป และ รถซุปเปอร์คาร์) มีดังนี้
- ระบบโช้คอัพไฟฟ้า โดยการควบคุมขนาดของวาวล์ระบายน้ำมันจากการสั่งการของสมองกล ซึ่งรับข้อมูลเซ็นเซอร์หลายๆจุดให้ทำหน้าที่ตรวจจับเสถียรภาพของตัวรถและวัดสถาพพื้นผิวบนถนนฝั่งด้านหน้ารถ (มีเฉพาะรถบางรุ่น) คอยปรับเพิ่มหรือลดขนาดวาวล์ซึ่งจะส่งผลต่ออัตราการไหลของน้ำมันโดยตรง ระบบนี้มีหลายชื่อด้วยกันตามค่ายผู้พัฒนาระบบ เช่น Adaptive Damper System, Active Body Control, Magic Body Control เป็นต้น
- ระบบโช้คอัพแม่เหล็ก เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยี ที่ใช้น้ำมันนำมาพัฒนาขึ้นมาใหม่โดยการผสมสารโลหะแขวนลอยบางประเภทเข้าไปในโมเลกุลของน้ำมันกลายเป็นน้ำมันแม่เหล็ก เมื่อน้ำมันได้รับการกระตุ้นจากสนามแม่เหล็ก(เป็นแผงโมดูลไฟฟ้า)ที่ติดตั้งอยู่ภายในโช้คอัพ ระบบนี้มีหลายชื่อด้วยกันตามค่ายผู้พัฒนาระบบ เช่น Magneto rheological fluid (MR fluid), Dynamic Ride Control, Magnetic Ride เป็นต้น
ด้านคุณสมบัติด้านความหนืดน้ำมันแม่เหล็กจะปรับเปลี่ยนไปตามระดับความแรงของสนามแม่เหล็ก (จัดระเบียบโมเลกุลของน้ำมัน) ซึ่งการปรับเปลี่ยนความหนืดด้วยกรรมวิธีเช่นนี้จะตอบสนองได้เร็วกว่าการไปปรับที่ขนาดของวาวล์
ดังนั้นระบบ Adaptive Shock Absorber ทั้งโช้คอัพไฟฟ้า และ โช้คอัพแม่เหล็ก จะสั่งปรับระดับการหน่วงของโช้คอัพแตกต่างกันไป ตามซอฟต์แวร์ในรถยนต์แต่ละรุ่น แต่ละค่ายด้วยเช่นกัน
Reference: Mercedes-Benz, Audi AG, Bayerische Motoren Werke AG, LORD Corp EMEA, Automobili Lamborghini S.p.A.